พระธาตุพนม ถือว่าเป็นพระธาตุที่เก่าแก่ คู่บ้านคูเมืองของชาวอีสานและชาวลาว มาตั้งแต่ครั้งโบราณ หากใครได้มีโอกาสไปกราบสักการะสักครั้งในชีวิต ก็จะเป็นบุญตาและเป็นสิริมงคลของชีวิตเป็นอย่างยิ่ง คุณยายที่บ้านเคยบ่นอยากไปกราบสักการะสักครั้ง ลูกหลานจะพาไป แต่ไม่พาไปสักที จนปัจจุบันคุณยายอายุปาเข้า ๘๐ กว่าปีแล้ว ยังไม่ได้กราบสักการะสักครา
พระธาตุพนม เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของภาคอีสาน ประดิษฐานบนเนินที่เรียกว่าภูกำพร้า ปัจจุบันเป็นบริเวณวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนมราว 52 กิโลเมตร พระธาตุพนมสร้างขึ้นแต่สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ประมาณ พ.ศ. 8 โดยเจ้าเมือง 5 องค์คือ พระยาสุวรรณภิงคารนะ พระยาคำแดง พระยาอินทปัตถะนคร พระยาจุลนีพรหมทัต และพระยานันทเสน เพื่อบรรจุพระอุงรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า
ลักษณะพระเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม หรือทรงแจกัน ก่อด้วยอิฐมีลวดลายจำหลักลงไปในแผ่นอิฐ มีซุ้มคั่นด้านละซุ้ม ซ้อมกัน 3 ชั้น ลดหลั่นกันลงมาอย่างวิจิตร
พระธาตุพนมได้รับการบูรณะเรื่อยมาตามกาลเวลา และในวันที่ 11 สิงหาคม 2518 องค์พระธาตุพนมได้หักโค่นลง ประชาชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศได้ร่วมกันสละทุนทรัพย์ก่อสร้างขึ้นใหม่ และมีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุอีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคม 2522
นอกจากนั้นยังมีทรัพย์สมบัติอีกหลายหมื่นชิ้นที่ชาวไทยถวายบรรจุไว้เป็นพุทธบูชา เฉพาะยอดฉัตรทองคำมีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม องค์พระธาตุพนมนอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชนชาวพุทธแล้ว รูปแบบการก่อสร้างขององค์พระธาตุพนมยังเป็นต้นแบบให้กับการก่อสร้างพุทธเจดีย์ในภาคอีสานและในลาวอีกมากมายหลายแห่ง
ประเพณีนมัสการพระธาตุพนม เป็นประเพณีประจำปีสมโภชองค์พระธาตุพนมปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของประชาชนไทยลาวสองฟากฝั่งโขง
ในวันงานประเพณีประชาชนจากทุกสารทิศทั่วอีสานของไทย และชาวลาวฟากตรงข้ามต่างเดินทางกันมาร่วมพิธีกรรมมากมายมืดฟ้ามัวดิน การมหรสพสมโภชคึกคักสนุกสนานจัดเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสานงานหนึ่ง
วันเวลาจัดพิธีกรรมวันขึ้น 12 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
รูปแบบประเพณี
ในวันขึ้น 12 ค่ำ ต่อวันแรม 1 ค่ำ พุทธศาสนิกชนจะแต่งกายชุดขาวไปกราบไหว้นมัสการองค์พระธาตุพนม และถือศีลปฏิบัติธรรมที่วัดตลอด 5 วัน ในวันขึ้น 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันวิสาขะ ชาวบ้านจะเวียนเทียนรอบองค์พระกันอย่างคับคั่ง และในวันรุ่งขึ้นแรม 1 ค่ำ จะมีการรำบูชาองค์พระธาตุพนมจากชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดนครพนมถ้วนหน้า
จุดเด่นของพิธีกรรมคือการรำบวงสรวงองค์พระธาตุพนม โดยกลุ่มชาวพื้นเมืองหลากหลายของจังหวัดนครพนม โดยเฉพาะชาวผู้ไทเรณูนครที่มีกระบวนฟ้อนเรณูที่สวยงามอย่างยิ่งที่จะมาอวดลีลาการร่ายรำอันยอดเยี่ยมชนิดหาชมที่ใดอีกไม่ได้ นอกจากนั้นกลุ่มชาวไทยย้อ จากอำเภอท่าอุเทน ชาวบ้านธาตุและชาวอำเภอเมืองก็จะจัดกระบวนรำมาประกวดประชันกันเป็นพิเศษ (จาก...https://www.ku.ac.th/e-magazine)
เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ไม่ได้นึกฝันมาก่อน ว่าจะได้มีโอกาสมากราบสักการะพระธาตุพนม หลังจากที่เคยไปกราบไหว้มาแล้ว สมัยที่เคยย้ายไปปฏิบัติงานที่จังหวัดอำนาจเจริญ ประมาณปี พ.ศ.๒๕๔๔
ในการมากราบไหว้ครั้งนี้ ได้ร่วมเดินทางมาตรวจราชการกับท่านผู้ตรวจการอัยการ ได้รับความอนุเคราะห์จากคณะข้าราชการในพื้นที่ ได้ทำพิธีถวายผ้าห่มองค์พระธาตุ โดยมีการจารึกชื่อไว้ในผืนผ้า เสร็จแล้วนำมาถวายพระสงฆ์ ซึ่งได้พานำกล่าวคำถวายผ้าห่มองค์พระธาตุ เสร็จแล้วได้นำพาคณะเวียนประทักษิณรอบองค์พระธาตุพนม จำนวน ๓ รอบ
ในการเวียนประทักษิณดังกล่าว รอบแรกพระคุณเจ้าได้นำสวดบทพระพุทธคุณ รอบที่ ๒ นำสวดบทพระธรรมคุณ และรอบที่ ๓ นำสวดบทพระสังฆคุณ เสร็จแล้ว ได้นำผ้าห่มรอบองค์พระธาตุพนม เป็นอันเสร็จพิธี
นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสเข้าไปบรเิวณด้านใน ซึ่งตามปกติแล้วจะเป็นเขตหวงห้าม เข้าไปได้เฉพาะที่ได้รับอนุญาตเท่านั่น โดยเดินเวียนปทักษิณ ๓ รอบ และบันไดไต่ขึ้นไปบนยอดของพระธาตุเจดีย์ด้วย ล้อมรอบพระธาตุ จะมีพระพุทธรูป และวัตถุมงคลจำนวนมากมายที่มีผู้มีจิตศรัทธานำมาถวายและวางล้อมรอบองค์พระธาตุ
นับว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และเป็นโอกาสอันดีที่ได้มีโอกาสได้มากราบสักการะในครั้งนี้ ขอกราบขอบพระคุณท่านผู้ตจรวจการอัยการ และคณะข้าราชการทุกท่านที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ และขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านมา ณ โอกาสนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น